การแจ้งเตือน ()
  01/11/2021

กินกับอี๋ ภูเก็ต

นางเอกประจำร้านผู้สร้างคาแรคเตอร์ให้กินกับอี๋ มีเอกลักษณ์เพียงหนี่งเดียวบนเกาะภูเก็ต ก็คือแม่ครัวเอกซึ่งเป็นที่มาของชื่อร้าน อี๋ซิ้ม (อี๋คือป้าหรือน้า) วัย 72 ปี ในชุดทำครัวโดดเด่น นุ่งกระโจมอกทำกับข้าวเหมือนเมื่อหลายสิบปีก่อน
กินกับอี๋ ภูเก็ต
image description

มาภูเก็ตแล้วถ้าอยากได้ประสบการณ์การชิมลิ้มลองไม่ซ้ำใคร ให้มาที่ร้านกับข้าวพื้นบ้านสไตล์ภูเก็ตผสมจีนฮากกา (หรือจีนแคะ) เปิดมาเพียง 3 ปีครึ่งก็โด่งดังปังเว่อร์ กระแสตอบรับแรงมาก มีคิวจองไปชิมยาวเหยียดนานเป็นอาทิตย์ ร้านนี้มีชื่อว่ากินกับอี๋ นางเอกประจำร้านผู้สร้างคาแรคเตอร์ให้กินกับอี๋ มีเอกลักษณ์เพียงหนี่งเดียวบนเกาะภูเก็ต ก็คือแม่ครัวเอกซึ่งเป็นที่มาของชื่อร้าน อี๋ซิ้ม (อี๋คือป้าหรือน้า) วัย 72 ปี ในชุดทำครัวโดดเด่น นุ่งกระโจมอกทำกับข้าวเหมือนเมื่อหลายสิบปีก่อน จนอี๋ซิ้มกลายเป็นสัญลักษณ์ของร้านกินกับอี๋ บ่งบอกถึงความอร่อยแบบพื้นบ้านเป็นที่เรียบร้อยไปแล้ว ใครได้เห็นบรรยากาศ เห็นรูปแม่ครัวและหน้าตาอาหาร ก็จะรู้เลยว่าร้านนี้ต้องมีดีแน่ ๆ อีกทั้งจะเกิดอาการหิวโหยทนไม่ไหว จนต้องรีบจองตั๋วมาภูเก็ตแทบทุกราย แต่ช้าก่อน ขอบอกว่าที่ร้านกินกับอี๋นั้น เราไม่สามารถเดินดุ่ม ๆ วอล์กอินเข้าไปที่ร้านได้เลยนะจ๊ะ เพราะต้องมีการจองโต๊ะล่วงหน้านานเป็นอาทิตย์ (บางช่วงนานนับเดือน) อีกทั้งในช่วงนี้กินกับอี๋เปิดแค่อาทิตย์ละ 3 วัน (จากเดิม 4 วัน) คือวันศุกร์-วันอาทิตย์ 11 โมงเช้าถึงบ่าย 3 โมงเท่านั้น ผู้ดูแลและจัดการร้านคือหลานสาวอี๋ซิ้มชื่อน้องทับทิม ซึ่งสวมชุดทันสมัยวัยรุ่น เพราะเจ้าตัวกลัวว่าถ้านุ่งกระโจมอก คงจะไม่มีใครกล้ามาที่ร้าน น้องทับทิมเป็นเจ้าของเพจกินกับอี๋ ซึ่งจะรับจองโต๊ะทางเฟซบุ๊กนี้ช่องทางเดียวเท่านั้น โดยทับทิมจะบอกรอบการจองและวันที่ถูกจองเต็มแล้วไว้ในเพจเสร็จสรรพ

image description

เมื่อได้วันว่าง ทับทิมจะตอบรับด้วยการส่งข้อความอินบอกซ์มาให้ทางเฟซบุ๊ก และส่งเมนูให้สั่งอาหารล่วงหน้าด้วย พร้อมทั้งเก็บมัดจำโต๊ะละ 500 บาท พอถึงวันที่จะไป ทางร้านก็จะไปจ่ายตลาดเตรียมหาวัตถุดิบมาให้ ร้านกินกับอี๋อยู่ที่บ้านม่าหนิก ทับทิมใช้คำว่าแต่ก่อน ”อยู่ในหมง” เหมือนอยู่ในป่า เขตปริมณฑลบ้านนอกห่างไกลความเจริญ แต่ตอนนี้บ้านม่าหนิกเจริญขึ้นมาก มีหมู่บ้านจัดสรร ร้านอาหารดี ๆ เกิดขึ้นแล้ว ตัวร้านอยู่ห่างจากอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร มาตามถนนศรีสุนทร (สาย 4025) ประมาณ 3.7 กิโลเมตร (ทางไปเชิงทะเล) ปากทางเข้าร้านอยู่ข้าง 7-11 ตรงข้ามโรงเรียนบ้านม่าหนิก ที่นี่เขาทำกันในครอบครัวจริง ๆ มีอี๋ซิ้มกับน้องทับทิมทำกับข้าว อี๋ทรงคือน้าอีกคน (นุ่งกระโจมอกเหมือนกันแต่เป็นยางยืด) คอยเตรียมเครื่องแกง พ่อทอดหมั่นโถว แม่เป็นพีอาร์ประจำร้าน คอยรับแขกกับจ่ายตลาด อารมณ์ความรู้สึกเวลามาร้านนี้ เหมือนได้กินข้าวในบ้านญาติตรงสวนหน้าบ้าน ได้นั่งร่วมโต๊ะกับเพื่อนฝูง ในบรรยากาศผ่อนคลาย เพราะทุกคนบริการด้วยใจ ยิ้มแย้มแจ่มใส สามารถเดินเข้าครัวไปทักทายอี๋ซิ้ม ขอถ่ายรูปได้ กับข้าวก็เป็นของกินคุ้นเคยประจำบ้าน ที่นำมาปรับเป็นเมนูรับรองลูกค้า วันไหนได้อะไรสดใหม่มาก็จะทำให้กิน อย่างเช่นวันนั้นเราได้ลิ้มลองปลามงหลายเมนูเลย

image description

ขอเริ่มด้วยสิ่งที่ชอบมาก ๆ คือ ปลาทอดเครื่อง (ชิ้น ละ4 ขีด 300 บาท หรือขายเป็นตัว ๆ ละ 500 บาท) ทับทิมเล่าว่าเครื่องแกงที่ใช้ทาตัวปลา คล้ายกับเครื่องแกงทำน้ำยา มีตะไคร้ ขมิ้น กระเทียม พริกขี้หนูสวน เกลือ พริกไทย ตำใส่กะปิเพิ่มลงไป ทาตัวปลาทิ้งไว้ 15 นาที แล้วเอาด้านที่หมักปลาลงทอด จากนั้นพลิกอีกที วิดเครื่องใส่ด้านบน พอปลาสุกได้ที่ก็ตักออก แล้วผัดเครื่องต่อจนแห้ง น้ำมันต้องร้อนแต่ไม่ร้อนจนเกินไป เนื้อปลามงจะซึมซับรสชาติของเครื่องแกงที่ทาไว้หอมตลบอบอวลเข้มข้นถูกใจ หรือบางวันก็จะมีปลากล้วยแดง (2 ตัว 300 บาท)แทน อย่าลืมว่าต้องโทรสั่งล่วงหน้าจะได้ไปหาซื้อปลาสด ๆ และเตรียมหมักเครื่องไว้ เมนูปลาอีกอย่างคือปลาลำซึ้ง (4 ขีด 300 บาท จนถึง 10 ขีด 600 บาท) คือปลานึ่งทั้งตัวมันวาวกับเครื่องต่าง ๆ มีกระเทียม พริกขี้หนูสวน แป้งมัน น้ำตาล น้ำส้มสายชู อีกอย่างที่ห้ามพลาดเลยเป็นอันขาด คือหมูอี๋ซิ้ม (300 บาท) บางคนเรียกหมูทอดภูเก็ต อย่าไปนึกถึงหมูทอดแห้ง ๆ นะจ๊ะ เพราะทำจากหมูสามชั้น หมักกระเทียม พริกไทย ซีอิ๊วดำและซีอิ๊วขาวท้องถิ่น ตรารถยนต์และตราแพะ หมักทิ้งไว้ 1 คืน แล้วนำไปทอดนุ่ม ๆ มีเครื่องหมักอยู่เต็มจาน หอมฟุ้งเลยทีเดียว กินแกล้มด้วยหัวไชเท้ากับแครอทดองเอง น้ำพริกพื้นบ้านต้องลองน้ำชุบเยาะ (250 บาท) คำว่าเยาะแปลว่าตำ เป็นน้ำพริกแห้ง ๆใส่ปลาฉิ้งฉ้าง และมีรสเปรี้ยวด้วยมะม่วงเบา หรือใส่ระกำแทนก็ได้ ที่ขาดไม่ได้คือผักเหนาะสำหรับแกล้ม ถ้าชอบแบบน้ำ ๆ ก็ให้สั่งน้ำชุบหยำ (280 บาท) ใส่ส้มจี๊ดหรือที่ภาษาถิ่นเรียกส้มเก็ตล่า กุ้งทะเลลวก หยำ (ขยำ) ด้วยมือกับเคย (กะปิ) จากเกาะยาวและจากระนอง ทำถ้วยต่อถ้วย

มาภูเก็ตต้องกินเอี่ยมต๊อคั่วเกลือ (150 บาท)เค็ม ๆ หอม ๆ มัน ๆ เอี่ยมต๊อหรือเหลี่ยมต๊อคือเนื้อช่วงระหว่างราวนมกับโคนขา มีมันน้อยกว่าหมูสามชั้น ถ้าชอบรสปักษ์ใต้เข้มข้นต้องสั่งเอี่ยมต๊อผัดเคยเค็ม (150 บาท) ซึ่งเป็นเคยที่หมักสด ๆ ยังไม่ตากแห้งเป็นกะปิ ผัดจนเหลี่ยมต๊อมีรสชาติเข้าเนื้อเข้มข้น เคยเค็มขึ้นชื่อต้องมาจากหาดไม้ขาวของภูเก็ต ที่เด็ดดวงยิ่งนักคือไก่แป๊ะซะ (ครึ่งตัว 300 บาท ทั้งตัว 10-13 ขีด 650บาท) ใช้ไก่บ้านเบตงนึ่งทั้งตัว เนื้อหนึบหอมหนังสีเหลืองมันน้อย จิ้มกับน้ำจิ้มสูตรประจำบ้านนี้คือทำจากกระเทียมเจียวกับซีอิ๊วขาวตราแพะเท่านั้น เมนูนี้มีจำนวนจำกัดต่อวัน ของกินอื่น ๆ มีอีกหลายอย่าง วันนั้นอี๋ซิ้มได้ลำเพ็งของหายาก (นาน ๆ มีที) เอามาทำต้มส้มลำเพ็ง (100 บาท) ใส่ใบลำเพ็ง กับปลาย่างและกะปิ ปรุงรสเปรี้ยวด้วยส้มควาย (ส้มแขก) ต่อด้วยหมูฮ้อง (200 บาท) สูตรนี้ใช่เอี่ยมต๊อ มันไม่มาก เพราะน้องทับทิมไม่อยากให้อี๋ซิ้มกินของมันมากเกินไป บ้านนี้ทำรสออกเค็มหน่อย ไม่หวาน ใส่โป้ยกั๊ก อบเชย รากผักชี กระเทียม พริกไทย ซีอิ๊วดำ ซีอิ๊วขาว เคล็ดลับคือต้องปรุงด้วยน้ำตาลทรายแดง

อีกทั้งแกงส้มปลามงใส่โชน (ออดิบ)(ถ้วยละ 300 บาท หรือถ้าใส่ปลาทั้งตัวในหม้อ 500 บาท กินได้ 10 คน) เครื่องแกงตำเอง ส่วนผัดผักยอดนิยมคือใบเหมียงผัดไข่ (100 บาท) เครื่องดื่มประจำร้านคือน้ำส้มจี๊ดใส่น้ำผึ้งดอกลำไยขายเป็นขวด (90 บาท) ของหวานมีอย่างเดียวคือหมั่นโถวทอดจิ้มสังขยาทำเอง (50 บาท) ถ้าติดใจอยากซื้อสังขยากลับบ้านก็มีขายเป็นกระปุก ๆ ละ 100 บาท

นี่คือร้านที่ได้ทั้งความอร่อยนุ่มนวลแบบพื้นบ้าน และได้ความผ่อนคลายสบายใจอีกด้วย สมควรแก่การไปลิ้มลองเป็นอย่างยิ่ง เพิ่งกลับมาเปิดให้นั่งกินที่ร้านได้เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมานี้เอง อย่าลืมรีบจองล่วงหน้าเพราะคิวยาวมาก แล้วขอถ่ายรูปคู่กับอี๋ซิ้มนุ่งกระโจมอกไว้เป็นบุญตาด้วยนะจ๊ะ