ของกินโบราณที่ยังสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ที่ได้ชื่อว่าลูกชิ้น 5 หม้อก็เพราะในสมัยก่อนนั้นคนขายจะแยกเครื่องเคราต่าง ๆ ใส่หม้อเล็ก ๆ ไว้ 5 หม้อด้วยกัน เวลาปรุงก็หยิบจากหม้อโน้นหม้อนี้เป็นลำดับ แล้วค่อยตักน้ำซุปใส่ชามเป็นอันดับสุดท้าย ซึ่งปัจจุบันแม้ไม่มีหม้อให้เห็นแล้วแต่ก็ยังคงมีเครื่องเคราต่างชนิดวางเรียงให้เห็นอยู่เช่นเดิม
เครื่องเคราที่ร้านนี้มีให้เลือกชิมมากมาย ทั้งลูกชิ้นปลาเนื้อนุ่มที่ทำจากปลาอินทรี ลูกชิ้นกรอบทำจากเผือก หมูสับ และเนื้อปู ชุบแป้งทอดจนกรอบ ลูกชิ้นปั้นเป็นก้อนนิ่ม ๆ ทำจากหมูสามชั้น ปลาหมึก หัวผักกาด เคล้ากับแป้งมันแล้วนำไปนึ่งให้สุกเหมือนสาคูไส้หมู (แต่รสชาติคนละอย่าง) เต้าหู้ฝ่อและเต้าหู้ขาวยัดไส้หมูสับผสมแป้ง นอกจากนี้ก็มีขาหมูหั่นชิ้นเล็กติดหนังกรุบ ๆ และสมองหมูอีก 1 ก้อน ซึ่งถ้าใครไม่อยากใส่ก็บอกได้ และที่ต้องสั่งกินทุกครั้งคือบรรดาเครื่องในต่าง ๆ ที่มีทั้งกระเพาะ ตับ ปอด เซ่งจี้ และไส้ ทั้งสดทั้งนุ่มอร่อยสุด ๆ
เครื่องเคียงในการกินลูกชิ้นสมองหมูนอกจากข้าวสวย 1 ชามแล้วยังมีหนังปลาทอดกรอบ (25 บาท) กุนเชียงธรรมดา (25 บาท) และกุนเชียงตับ (25 บาท) ที่อร่อยหอมมันจนหยุดไม่ได้ จิ้มกับซีอิ๊วหวานเข้ากันดี ปรุงรสน้ำจิ้มอีก 1 ถ้วยด้วยน้ำส้มพริกตำ น้ำตาล น้ำปลา เอาไว้จิ้มกับเครื่องเกาเหลาอร่อยอย่าบอกใคร ส่วนสนนราคาเกาเหลาทั้งที่ใส่และไม่ใส่สมองหมูและใส่ถุงคิด 100 บาทรวด
ร้านนี้นอกจากความอร่อยแล้วยังขึ้นชื่อเรื่องความสะอาด ไม่เฉพาะเครื่องในสารพัดชนิดหรือสมองหมูที่ล้างอย่างดี จาน ชาม ภาชนะเครื่องปรุงยังสะอาดสะอ้านไม่มีคราบสกปรก แม้แต่ขาโต๊ะยังเช็ดอยู่ตลอดเวลาจนดูเหมือนของใหม่ ร้านนี้เรียกได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมในครอบครัว เป็นร้านอาหารที่ช่วยกันทำระหว่างแม่ ๆ ลูก ๆ แบบไม่ได้ไปรับช่วงมาจากที่ไหน ที่จอดรถแนะนำให้ไปจอดที่ศาลเจ้าพ่อเสือบนถนนตะนาว แล้วค่อยเดินต่อมาที่แพร่งภูธรอีกทีนะจ๊ะ