ไอศกรีมยุคนี้ไม่ได้เป็นแค่ไอศกรีมธรรมดา ๆ บอกชื่อรสชาติตรง ๆ อีกต่อไปแล้ว เพราะ ไอศกรีม Guss Damn Good (อ่านว่า กั๊สส์ แดมน์ กู๊ด) ก้าวข้ามไปอีกขั้นหนึ่ง ให้คำจำกัดความตัวเองว่าเป็นคราฟท์ไอศกรีม(Craft Ice Cream) รสชาติแปลกใหม่ไม่ซ้ำใคร แทนที่จะบอกรสชาติออกมาเลย กลับตั้งชื่อตามอารมณ์ความรู้สึกและเรื่องราวอยู่เบื้องหลัง เป็นไอศกรีมพรีเมียม ใช้ของดีจากธรรมชาติคุณภาพสูง ส่วนผสมวิธีการทำไม่เหมือนใคร สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับคนชิม จนตอนนี้มีสาวกแฟนคลับมากมาย
Guss Damn Good เกิดขึ้นได้ด้วยน้ำมือของหนุ่มสาวความคิดกว้างไกล 2 คน คือ คุณระริน ธรรมวัฒนะ และคุณนที จรัสสุริยงค์ ฝ่ายชายเรียนวิศวะ ส่วนฝ่ายหญิงจบบัญชีไฟแนนซ์ แต่กลับสร้างสรรค์ไอศกรีมได้อย่างล้ำลึก ตอนเรียนปริญญาโทอยู่ที่บอสตัน เกิดแรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมการกินไอศกรีมสไตล์ปาร์ตี้สนุกสนานของคนเมืองนั้น จึงตระเวนชิมเข้าออกร้านหรือบาร์ไอศกรีมเป็นว่าเล่น นำตำรามาศึกษาอย่างถ่องแท้ ทดลองทำคิดสูตรไอศกรีม จนกลับมาเปิดร้านที่เมืองไทย เริ่มออกงานในปี 2558 และมีร้านไอศกรีมเล็ก ๆ เพียง 7 ตารางเมตรอีก 1 ปีถัดมา ปัจจุบัน Guss Damn Good มีหน้าร้านทั้งหมด 9 สาขา ที่ศาลาแดงในอาคาร Wolf Pack ที่เพลินจิต Bar Storia del Caffè มหาทุนพลาซ่า ที่ The Commons ศาลาแดง(สาขานี้ทำเป็นบาร์ไอศกรีมซันเดย์ย้อนวัย) The Commons ทองหล่อ(สาขานี้มีมีเมนูมิลค์เชคและ Affogato ราดซอสต่าง ๆด้ วย) Eight ทองหล่อ(หน้าฟู้ดแลนด์) Emquartier(ทำเป็นคุกกี้บาร์) ชั้น G หน้า Gourmet Market เซ็นทรัลเวิลด์ชั้น 3 เมกา บางนาชั้น 2 ฝั่งอิเกีย และสามย่านมิตรทาวน์ ไอศกรีมของ Guss Damn Good มีความเนียนนุ่มเหนียว มีปริมาณไขมันมากกว่าไอศกรีมเจลาโต้ แต่เนื้อแน่นน้อยกว่าไอศกรีมอเมริกัน
การตั้งชื่อไอศกรีมตามเรื่องราวและความรู้สึกนั้น ทำให้เราไม่สามารถคาดเดาถึงรสชาติได้ อีกทั้งจะไม่เติมสี จึงอาจจะเห็นรสชาติสีขาวเรียงรายอยู่ในตู้ถึง 5 ชนิด ก่อให้เกิดวัฒนธรรมที่ให้ลูกค้าทดลองชิมก่อนในช้อนเล็ก ๆ ได้อย่างเต็มที่ ชิมไปเถอะไม่ต้องเหนียมอาย เพราะพนักงานขายจะคะยั้นคะยอให้เราชิมได้ตามสบายจนพอใจ แค่นี้ก็รู้สึกสนุกสนานเพลิดเพลิน ฟินไปกับการชิมมาก ปัจจุบันนี้ไอศกรีม Guss Damn Good แบ่งหมวดหมู่ใหม่ง่าย ๆ เป็น 3 ประเภท (จากเดิมที่เคยเรียกอีกแบบ เช่น ประเภทไอศกรีมบอสตัน เฟลเวอร์) พวกแรกคือไอศกรีมซอร์เบต์(Sorbet) ทำจากผลไม้ไม่ใส่นม อีกประเภทคือไอศกรีมทำจากนมเรียกว่า แดรี่(Dairy) ซึ่งมีรสชาติมากที่สุด ปิดท้ายด้วยทิปซี่(Tipsy) ที่แปลว่าโซเซ เป็นไอศกรีมผสมเหล้า (แต่ไม่ได้ผสมเยอะ) คุณนทีบอกว่าตอนนี้มีไอศกรีมหมุนเวียนเปลี่ยนไปถึง 60 กว่ารสชาติแล้ว ทั้งไอศกรีมแบบตักเป็นสกู๊ป และที่ขายเป็นถ้วย ๆ ซึ่งแต่ละรสชาติก็จะมีแฟนคลับกระจายกันไป สนนราคาตั้งต้นที่สกู๊ปละ 85-95 บาท
โดยคุณระรินเสริมว่า รสชาติที่ต้องยืนพื้นเพราะลูกค้าถามหาตลอด คือ Don’t Give Up #18 ที่ทดลองทำลองผิดลองถูกมากกว่า 18 ครั้ง กว่าจะได้ส่วนผสมที่ลงตัวรสชาติถูกใจ เป็นไอศกรีมสีขาวที่หอมนมมาก ๆ มีส่วนผสมของนมสดจากฟาร์มโคนมลพบุรี และครีมนำเข้าจากฝรั่งเศส แพงแค่ไหนก็ต้องใช้ เพราะต้องการให้ออกมาดีที่สุด ต่อด้วยรสชาติที่ต้องมีตลอดคือ Here's Your Damn Good Chocolate Ice Cream ใช้ดาร์กช็อกโกแลตความเข้มข้น 70% จากเบลเยียม รสเข้มถูกใจ และที่ประทับใจมาก ๆ เช่นกันคือ Maine Rocky Coast ไอศกรีมซีซอลต์ (Sea salt) รสเค็ม ๆ หอม ๆ สอดแทรกด้วยอัลมอนด์บริทเทิล (Almond Brittle) ชิ้นเล็ก ๆ กรุบ ๆ ให้อารมณ์เหมือนอยู่ริมชายหาดโขดหินในรัฐเมน อร่อยเพลินหยุดไม่ได้จริง ๆ อีกรสชาติที่ทำให้ผมตกหลุมรัก Guss Damn Good เป็นครั้งแรกก็คือ Bonfire ไอศกรีมคาราเมลไหม้ ๆ นิด ๆ รสเข้ม ๆ ทำจากคาราเมลที่นำน้ำ น้ำตาลและครีมมาเคี่ยวเท่านั้น คนรักก็รักลุ่มหลงเลย ส่วนคนที่ไม่ชอบก็มีบ้าง ดังนั้นจึงควรลองชิมก่อนว่าถูกใจหรือไม่ หรือถ้าชอบแนวผลไม้สดชื่น ก็มี Tokyo Mist ไอศกรีมยูสึ(Yuzu) รสเปรี้ยวหอมที่ทำจากยูสึถึง 3 ชนิด และที่กำลังมาแรงคือ In Good Hands เป็นไอศกรีม Burnt Vanilla ทำจากนมผสมวานิลลาชั้นเลิศแกะจากฝักของมาดาร์กัสการ์ หอมวานิลลาและมีกลิ่นรสเข้ม ๆ อร่อยเกินคำบรรยาย ใส่ถั่วพิชตาชิโอ้(Pistachio)แคนดี้เคี้ยวกรุบ ๆ ห้ามพลาดเลย
ซึ่งไอศกรีมบางรสชาตินั้นจะมีการคอลลาโบเรชั่น(Collaboration) หรือเรียกสั้น ๆ ว่าคอลแลบ กับแบรนด์หรือพาร์ทเนอร์อื่น ๆ เพื่อร่วมมือกันออกรสชาติใหม่ ๆ สื่อสารถึงคาแรคเตอร์ของแบรนด์นั้น ๆ ผ่านการชิมไอศกรีม ดังเช่น In Good Hands ที่ร่วมกับบริษัทตรวจสอบบัญชี Deloitte สื่อให้เห็นความเป็นมืออาชีพแต่มีความผ่อนคลายซุกซ่อนอยู่ในตัวด้วย หรืออย่างเช่นรสชาติ A GOOD DAY ที่คอลแลบกับ x Carnation Plus ออกรสชาติย้อนวัยที่คุ้นเคย รสนมเย็นผสมถั่วแมคคาเดเมีย และรสชาติ RISE AND SHINE ไอศกรีมนมผสมวานิลลาโอ๊ตมีลและคุกกี้โดกับนมข้นหวาน เปรียบเสมือนเด็กที่โตเป็นสาวไลฟ์สไตล์คนเมือง การคอลแลบนั้นไม่จำกัดอยู่แค่กับแบรนด์ต่าง ๆ มีแม้กระทั่งคู่บ่าวสาวขอให้ทำ รสชาติ Make a Toast ไปฉลองในงานแต่งงาน คือ ไอศกรีม Sorbet สตรอว์เบอร์รี่ผสมแชมเปญ คู่รักคู่นี้มองว่าการฉลองเกิดขึ้นได้ทุกวันเวลา จะเห็นได้ว่า Guss Damn Good เก่งมากในการเล่าเรื่องราวผ่านไอศกรีม ซึ่งรสชาติเหล่านี้จะมีขายที่ร้านตลอดไป นับเป็นเสน่ห์ของการทำตลาดที่ทันสมัยมาก ส่วนถ้าจะให้บรรยายถึงรสชาติอื่น ๆ ที่ชอบคงต้องบอกกันยาวเหยียด เพราะแต่ละชนิดก็จะมีเสน่ห์ดึงดูดใจไปคนละแบบ ขอเชิญไปตื่นตาตื่นใจลองชิมกันเองตามใจชอบที่ร้านจะดีกว่า จึงขอแนะนำต่อเพียงบางรสชาติ เช่น Frozen Fenway ไอศกรีมมินต์คุกกี้ชิปส์สีขาว(เพราะไม่ผสมสี) ซึ่งมีขายเฉพาะเป็นถ้วยเท่านั้น ไม่มีตักขายเป็นสกู๊ป มิฉะนั้นกลิ่นมินต์หอม ๆ จะแทรกไปอยู่ในไอศกรีมรสชาติอื่น ๆ ทั้งตู้
ต่อด้วย Virgin Umeshu ไอศกรีมรสชาติเหล้าบ๊วยที่ไม่ได้ผสมเหล้าเลย Why Can’t Coffee Be White? ไอศกรีมรสกาแฟหอม ๆ ที่ออกมาเป็นสีขาว ไม่ใช่สีกาแฟ B-Cube ไอศกรีม B ยกกำลังสาม คือไอศกรีม Brown Butter กับ Brown Sugar ใส่บราวนี่(Brownie) ชิ้นเล็ก ๆ ให้ความหนึบหอมหวานมัน PB Jelly ไอศกรีมรสเนยถั่วแทรกด้วยเยลลีสตรอว์เบอร์รี่ Naughty Honey ไอศกรีมรสน้ำผึ้งที่หอมถูกใจมาก ๆ ทำจากน้ำผึ้งดอกลำไยผสม Honey Comb แคนดี้หนึบ ๆ ที่ทำจากน้ำผึ้งตัวเดียวกัน อีกไม่นาน Guss Damn Good จะออกไอศกรีมกาแฟรสชาติใหม่ ชื่อว่า Intro to Coffee สำหรับผู้เริ่มหัดกินรสกาแฟ คือไอศกรีมคาราเมลมัคคิอาโต้(Caramel Macchiato) และรส Afternoon Kick เป็นไอศกรีมคอฟฟี่ซอร์เบต์ผสมซิตรัสหอม ๆ กินแล้วปลุกให้ตื่นเรื่องการขายนั้นที่ร้านพิถีพิถันมาก ถ้าสั่งไอศกรีม 2 ลูก พนักงานจะทราบเลยว่ารสไหนต้องอยู่ด้านล่าง รสไหนต้องอยู่บน เพราะควรจะกินรสชาติเบา ๆ ข้างบนก่อน นอกจากนี้ยังมีบริการส่งถึงบ้านหรือที่ทำงานด้วย ซึ่งน้องระรินจะถามย้ำเสมอว่าจะกินจริงกี่โมง เพราะต้องกะเวลาในการส่งด้วยการใส่น้ำแข็งแห้ง(ไม่ควรนานเกิน 2 ชั่วโมง)ให้ไม่ละลาย
ในปีนี้(2563) จะไม่ขยายสาขาแต่เน้นอบรมพนักงานให้รู้จักวัฒนธรรมองค์กรอย่างเข้มข้นเพื่อการบริการที่ดียิ่งขึ้น สำหรับใครที่ชื่นชอบการกินไอศกรีมและยังไม่เคยลิ้มลอง Guss Damn Good ควรรีบตามไปชิม รับรองว่าจะได้ประสบการณ์แปลกใหม่ตื่นตาตื่นใจอย่างแน่นอน